วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558

Protozoa


PROTOZOA


1.Giardia lamblia (G. lamblia)

G. lamblia เป็นโปรโตซัว (protozoa) ที่พบได้ทั่วไปในประเทศที่อยู่ในเขตอบอุ่น เป็นปรสิต (parasite) ที่พบได้บ่อยที่สุดในระบบทางเดินอาหารของมนุษย์ สามารถติดต่อได้ทางอาหาร จัดเป็นอันตรายทางอาหาร (food hazard) ประเภทอันตรายทางชีวภาพ (biological hazard) ทำให้เกิดโรค Giardiasis หรือ Lambliasis


ลักษณะ
Giardia lamblia มี 2 ระยะ คือระยะโทรโฟซอยต์และระยะซิสต์ ระยะโทรโฟซอยต์จะมีลักษณะกลมทางด้านหน้าและเรียวลงมาด้านท้ายของเซลล์ ด้านหน้าของเซลล์จะแบนส่วนด้านหลังจะโค้งนูน มีขนาดกว้าง 5-15 ไมโครเมตร และยาว 9.5-21 ไมโครเมตร มีแฟลกเจลลาทั้งหมด 4 คู่ เนื่องจากนิวเคลียสที่อยู่เป็นคู่กันประกอบกับการมีแผ่นดูดทำให้ปรสิตชนิดนี้ เมื่อถูกย้อมสีแล้วศึกษาดูด้วยกล้องจุลทรรศน์จะดูคล้ายคนใส่แว่นตาจ้องตอบมา ระยะซิสต์มีลักษณะเป็นรูปไข่ ขนาดกว้าง 7-10 ไมโครเมตร และยาว 8-12 ไมโครเมตร ไม่มีแฟลกเจลลัมอิสระ ซิสต์อ่อนมีนิวเคลียส 2 ก้อน แต่ซิสต์แก่ซึ่งเป็นระยะติดต่อจะมีนิวเคลียส 4 ก้อน



ภาพ ลักษณะของเชื้อ Giardia lamblia


โรคและอาการของโรค
โรค Giardiasis หรือ Lambliasis ผู้ติดเชื้อหลายรายไม่แสดงอาการ เนื่องมาจากมีภูมิคุ้มกันที่ดี แต่ในผู้ติดเชื้อบางรายที่มีความไวต่อเชื้อมากกว่าผู้อื่น อาจเกิดอาการท้องเสียทำให้เกิดอาการขาดน้ำ และลำไส้มีการผลิตเมือกออกมามาก มีอาการปวดท้อง  ผายลมบ่อย และน้ำหนักลด อุจจาระมีไขมันมากแต่ไม่มีเลือด เนื่องจากปรสิตจะไปรบกวนการดูดซึมไขมันและสารอาหารของลำไส้  ซึ่งเป็นการเริ่มต้นของโรค ถ้าถุงน้ำดีมีการติดเชื้อจะทำให้เกิดอาการตัวเหลือง ตาเหลือง และปวดท้อง มีรายงานว่า G. lamblia  ทำให้เกิดโรคลำไส้อักเสบ โรคนี้ไม่ทำให้ผู้ติดเชื้อเสียชีวิต แต่จะรบกวนไม่ให้ผู้ติดเชื้ออยู่ได้อย่างปกติสุข นอกจากนี้ G. lamblia ยังไปรบกวนการเจริญเติบโตของเด็กที่อยู่ในวัยเจริญเติบโต โดยเด็กที่ติดเชื้อจะมีการเจริญเติบโตไม่เต็มที่
Giardiasis เป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายมาก ถ้าสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวได้รับเชื้อสมาชิกที่เหลือในครอบครัวจะติดเชื้อในไม่ช้า  ระยะติดต่อของปรสิตชนิดนี้คือระยะซิสต์ ซึ่งปกติแล้วจะปะปนมากับอุจจาระของผู้ติดเชื้อ การติดเชื้อจะเกิดจากการกินซิสต์แก่โดยการปนเปื้อนของซิสต์ที่นิ้วมือ ในอาหารและน้ำ และการมีเพศสัมพันธ์ในลักษณะที่มีการปนเปื้อนของอุจจาระโดยเฉพาะในกลุ่มรักร่วมเพศ


วงจรชีวิตและการติดเชื้อ
เกิดจาก ผู้ป่วยทาน อาหารหรือ น้ำดื่มที่มี เชื้อระยะ cyst ปะปนเข้าไปใน ทางเดินอาหาร จากนั้น trophozoites จะออกจาก cyst มาอาศัย อยู่ในลำไส้เล็ก ตอนต้น โดยเฉพาะที่ crypts ของเยื่อบุผนังลำไส้ บริเวณ duodenum และ jejunum บริเวณส่วนอื่น ของลำไส้เล็ก ก็พบ ได้เช่นกัน เชื้อระยะ Trophozoites เพิ่มจำนวน และขยายพันธุ์ โดยการแบ่งตัว ในลำไส้ และปะปน ออกมา กับอุจจระ พร้อมระยะ cyst มากน้อย ขึ้นกับอาการ ของโรค นอกจากนี้ยังพบ trophozoites ได้ที่ common bile duct และ ถุงน้ำดี (gall bladder) โดยเฉพาะ ภายในน้ำดี ได้มีผู้ตรวจ พบเชื้อ Giardia lambia ปะปนอยู่มาก และเชื่อว่า น้ำดีเป็นตัว ช่วยในการ เจริญเติบโต ของปาราสิต ชนิดนี้ นอกจากนี้ ยังเชื่อว่า ถุงน้ำดี ท่อทางเดินน้ำดี และเยื่อบุผิวบริเวณ crypts ของลำไส้เล็กตอนต้น เป็นที่อยู่ ประจำ ของปาราสิต ชนิดนี้ นอกจากคนแล้ว สัตว์เลี้ยงเช่น สุนัชและแมว พบเชื้อปาราสิตชนิดนี้ได้ และสามารถ ติดเชื้อ มาสู่คน การติดเชื้อ ระหว่างคนกับคน โดยเชื้อปะปน มาในอาหาร และน้ำดื่มแล้ว ยังมีรายงาน การติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ในหมู่รักร่วมเพศ



ภาพ วงจรชีวิตของเชื้อ Giardia Lamblia


การรักษา
ไม่ควรรักษาด้วยตนเองควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาให้ถูกต้องและปลอดภัย การรักษาทำได้โดยการให้ยา quinacrine หรือ metronidazole ซึ่งจะสามารถรักษาโรคนี้ได้ภายใน 7 วัน แต่การรักษาควรทำพร้อมกันทั้งครอบครัว เพื่อป้องกันการติดเชื้อครั้งใหม่ในระหว่างสมาชิกภายในครอบครัวเดียวกัน การให้ยา quinacrine ทำได้โดยปริมาณยาที่ให้

-ในผู้ใหญ่คือ ครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร
-ในเด็กให้ ครั้งละ 2 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร
ส่วน metronidozole ให้แบบเดียวกันกับ quinacrine แต่ปริมาณยาที่ให้ในผู้ใหญ่คือ ครั้งละ 250-400 มิลลิกรัม ในเด็กให้ครั้งละ 2 มิลลิกรัม
นอกจากยาทั้งสองชนิดนี้แล้ว ยังมียาอีกชนิดหนึ่งคือ tinidazole ซึ่งในเด็กให้ยาในปริมาณ 50 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
ให้ยาเพียงครั้งเดียว ซึ่งยาชนิดนี้ให้ผลการรักษาร้อยละ 96.1 แต่มีผลข้างเคียงคือ มีอาการปวดศีรษะในผู้ติดเชื้อบางราย


การป้องกัน
การป้องกันจะขึ้นอยู่กับสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี เช่น การล้างมือก่อนรับประทานอาหาร การตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอ นอกจากนี้การจัดการระบบสุขาภิบาลที่ดี ไม่ให้มีการปนเปื้อนของอุจจาระในสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจทำให้มีการปนเปื้อนของระยะซิสต์ของ  G. lamblia  อยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำ ที่ใช้อุปโภคและบริโภค มีรายงานการปนเปื้อนของปรสิตชนิดนี้ในน้ำที่ใช้ในการอุปโภคและบริโภคในประเทศต่าง ๆ เช่น ประเทศรัสเซีย ประเทศอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในน้ำประปา เนื่องจากระยะซีสต์สามารถมีชีวิตอยู่ในน้ำประปาและยังคงมีความสามารถที่จะติดต่อไปยังผู้อื่นได้




2.Balantidium coli

          เป็น โปรโตซัว(protozoa) ชนิดหนึ่ง ใน ธรรมชาติ มีวงจรชีวิต 2 ระยะ คือ ระยะ trophozoite และ ระยะ cyst นับว่าเป็น เชื้อโปรโตซัว ที่มีระยะ trophozoite ในคน ที่ใหญ่ที่สุด เชื้อปาราสิต ชนิดนี้พบ ได้ตามที่ ต่างๆทั่วโลก โดยเฉพาะ ภูมิประเทศ ที่มีอากาศร้อนชื้น ปกติตัว Balantidium coli พบได้ใน หมู, ลิง และหนู เฉพาะใน หมูพบว่า มี การติดเชื้อ ถึงร้อยละ 65 มีรายงาน ทำให้เกิด ท้องร่วง (dysentery) ในคน ค่อนข้างน้อย ส่วนมาก พบใน กลุ่ม ประชากร ที่มี สุขอนามัยไม่สมบูรณ์
ประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ.2468 ถึงพ.ศ. 2471 ที่จังหวัดเชียงใหม่ นายแพทย์ Cort ได้ทำการตรวจ อุจจระของ ผู้ป่วย 8,000 ราย พบเชื้อปาราสิต ชนิดนี้เพียง 14 ราย(0.175%) เฉพาะภายใน 3 เดือน ของปี พ.ศ.2468 พบถึง 12 ราย จากนั้นมา ไม่มีรายงาน การเกิดโรค นี้ในคนอีก จนมาถึงปี พ.ศ.2505 รายงาน ผู้ป่วย 1 ราย มีอาชีพ เลี้ยงหมู ที่ จังหวัด เชียงใหม่ ผู้ป่วยได้รับ การรักษาและ หายจากโรค อย่างไรก็ตาม รายงานการเกิด โรคนี้ในคน พบ ค่อนข้าง น้อย ในปีพ.ศ.2515 ได้มี รายงาน การตรวจศพ 1 ราย ที่ กรุงเทพฯมหานคร ทราบว่า เป็นโรคนี้ ภายหลังจาก ผู้ป่วย เสียชีวิต จากการอักเสบ เป็นแผลในลำไส้ใหญ่ พบลำไส้แตก และเกิดช่องท้องอักเสบ


สัณฐานวิทยา

Balantidium  coli  เป็นโปรโตซัวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบในคน

Balantidium  coli – trophozoite

Balantidium  coli cyst

            ระยะ trophozoite ย้อมสีด้วย ircn-hematoxylin รูปร่างรูปไข่ ขนาด 40-200 * 30-120 ไมโครเมตร รอบตัวมีขนสั้นๆ (cilia) อญุ่เป็นจำนวนมาก มีช่องปาก (cytostom) เป็นรูปกรวย มองไม่ชัด มี food vacuole และมี contratile vacuole ขนาดใหญ่ 1 อัน นิวเคลียสมี 2 อัน อันใหญ่เรียก macronucleus รูปคล้ายถั่วเห็นได้ชัดติดสีดำ และอันเล็กเรียก micronucleus อยู่ใกล้กับอันใหญ่


สรีรวิทยา
               Trophozoites    เป็นรูปไข่ปกคลุมด้วยขนสั้นมีความยาวใกล้เคียงกัน มีขนาด 50-200*40-70 ไมโครเมตร ที่ข้างหนึ่งของแกนกลางลำตัวตามยาวมีร่องเข้าไปรูปกรวยคว่ำ ลึกโค้งเล็กน้อย ระยะโทรโฟซอยต์กินอาหารทางร่องปาก  คือปาก (cytostoma )  ปลายด้านหางกลมกว้าง  cytoplasm  มี food vacuoles จำนวนมาก  และมี contractile vacuole หนึ่งหรือ  สองอัน  ที่ปลายด้านหางมีรูเปิดเล็กๆเรียก  cytopyge อยู่ภายในเซลล์เยื่อหุ้มซึ่งใช้ขับถ่ายของเหลือค้าง จาก food vacuoles Balantidium  coli  มี   2 nuclei เห็นชัดเจน ซึ่งประกอบไปด้วย นิวเคลียสใหญ่ (macronucleus) รูปร่างคล้ายถั่ว นิวเคลียสเล็ก (micronucleus) อยู่ในโค้งด้านในของนิวเคลียสใหญ่ มีลักษณะเป็นก้นกลมติสีเข้มมาก เชื่อว่ามีหน้าทีเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวควบคุมเกี่ยวกับการเจริญเติบโต การแบ่งตัวแบบไม่อาศัยเพศ สำหรับไมโครนิวเคลียสมีขนาดเล็ก มีหน้าที่ควบคุมเกี่ยวกับการแบ่งตัวแบบอาศัยเพศ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรม

ลักษณะการก่อโรค
          ทำให้เกิดโรคในคนเรียกว่า balantidiasis หรือ balantidial dysentery; เชื้อไชผนังลำไส้ใหญ่ทำให้เกิดแผล, แผลโดยทั่วไปมีลักษณะคล้ายแผลที่เกิดจากบิดมีตัว E. histolytica และอาจก่อให้เกิดฝีใต้ผิวลำไส้ใหญ่(mucosa และ submucosa) บางครั้งแผลทะลุถึงชั้นกล้ามเนื้อ;แผลอาจกลมหรือรีหรือไม่แน่นอน,มีขอบนูน, ใต้แผลบุด้วยหนองและเนื้อเยื่อที่ตายแล้ว,ปากแผลอาจมีมูกเขียวปกคลุม
         กลไกการไชผนังลำไส้โดยเชื้อไม่ทราบชัด เชื้อมีเอนไซม์คล้าย hyaluroidase; คนค่อนข้างจะมีความต้านทานต่อการติดเชื้อ; มีปัจจัยหลายอย่างที่ลดความต้านทานต่อเชื้อลง เช่น ขาดอาหาร(อาหารที่มีโปรตีนต่ำ แป้งสูง) สภาวะการณ์ของแบคทีเรียในลำไส้,โรคที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอ,ภาวะกรดในกระต่(achlorhydria), โรคพิษสุราเรื้อรัง, เป็นต้น  บางครั้งเชื้ออาจจะเข้าสู่ไส้ติ่งทำให้เกิดไส้ติ่งอักเสบ แต่โดยปกติแล้วแผลมักเกิดที่บริเวณ rectosigmoid; แผลนอกลำไส้เกิดน้อยมากและมักจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากลำไส้ทะลุ
            คนที่ได้รับเชื้อและติดเชื้อแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มคือ 1.)ไม่มีอาการ 2.) เป็นโรคเฉียบพลัน 3.)เป็นโรคเรื้อรัง กลุ่มแรกมักพบในเขตที่มีโรคนี้ชุกชุม เช่น นิวกินี กลุ่ม 2 มีอาการปวดท้องคลื่นไส้อาเจียนและปวดเบ่ง ไม่ค่อยมีไข้ อาจถ่ายอุจจาระหลายครั้งและอุจจาระมีมูกเลือด กลุ่มเรื้อรังมีท้องร่วงเป็นๆหายๆ สลับกับท้องผูก มีอาการปวดตะคริว
               
การวินิจฉัย
ตรวจหาโทรโฟชอยต์หรือซิสต์ในอุจจาระและควรทำทันทีหลังจากเก็บอุจจาระได้  ซึ่งในอุจจาระอาจพบผลึกที่เรียกว่า Charcot-Leyden  หรือวินิจฉัยโดยใช้กล้อง sigmooidoscope  ตรวจดูแผลและขูดเอาเนื้อเยื่อลำไส้มาตรวจหาโทรโฟซอยต์  การตรวจหาเชื้อB. coli จากอุจจาระเป็นวิธีวินิจฉัยที่ใช้กันโดยทั่วไป การย้อมสีถาวรอาจจะทำให้วินิจฉัยยาก เพราะเชื้อนี้มีขนาดใหญ่ ดังนั้นเมื่อย้อมสีแล้วจะทำให้ติดสีมืด จึงไม่สามารถมองเห็นลักษณะต่างๆภายในตัวเชื้อได้ดีเท่าที่ควร บางครั้งผู้ที่ไม่มีความชำนาญมักจะสับสนระหว่าง B. coil กับไข่ของหนอนพยาธิตัวอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไม่สามารถมองเห็น Cillia ของ B. coil


การรักษา
          ใช้ยา  tetracycline 500 มก. กินวันละ 4 เวลา นาน 10 วันหรืออาจใช้diiodohydroxyquin (diodoquinol) ขนาด 650 มก. กินวันละ 3 เวลา นาน 21 วัน ยา mmetronidazole –okf 400-600 มก. กินวันละ 3 เวลา นาน 5 วัน

การป้องกัน
            เหมือนการป้องกัน E. histolytica  โดยเน้นให้การศึกษาในคนที่เป็นพาหะนำโรค  และการควบคุมสุขาภิบาล  โรคนี้ป้องกันได้โดยต้องมีสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี  บางคนติดเชื้อได้จากการดื่มน้ำหรือกินอาหารที่มีระยะซิสต์ของเชื้อโปรโตซัวปะปนอยู่  การเลี้ยงหมู ควรเลี้ยงด้วยอาหารหมูที่สะอาด ควรต้มเศษอาหารหรือผักตบชวาที่เลี้ยงหมูให้สุก รวมทั้งให้การรักษาผู้ป่วยให้หายขาด



3.Trichomonas vaginalis

Tricromonas vaginalis  เป็นโปรโตซัวในกลุ่มแฟลเจลเลต ทำให้เกิดโรค ทริโคโมนิเอซิส (trichomoniasis) ซึ่งเป็นหนึ่งในหกของกามโรคที่พบได้ทั่วโลก และจัดอยู่ใน
Ø อาณาจักร Potista,
Ø Phylum Metamonada,
Ø  Class Parabasalia,
Ø Order Trichomonadida,
Ø Family Trichomonadidae,
Ø Genus Trichomonas,
Ø Species T.vaginalis




ลักษณะรูปร่างของเชื้อ Trichomonas vaginalis

ลักษณะรูปร่างของเชื้อ Trichomonas vaginalis


สรีรวิทยา (Physiology)
            ทริโคโมแนต วาจินาลิส (Trichomonas vaginalis) ในประเทศไทยเรียกว่า พยาธิหนวด นอกจากนี้มันยังเป็นสาเหตุให้เกิดอาการระคายเคืองอันเนื่องมาจากท่อปัสสาวะอักเสบหรือต่อมลูกหมากอักเสบในผู้ชายได้
            เชื้อโปรโตซัวชนิดนี้มีขนาดเล็ก มีเยื่อคลื่นและหนวดที่เรียกว่า แฟลกเจลลา ไว้สำหรับเคลื่อนไหว โดยจะเคลื่อนที่แบบเร็วกระตุก (jerky moverment)
          Trichomonas vaginalis มีแต่ระยะ trophozoite เท่านั้น ขนาดยาว 7-23 ไมโครเมตร เฉลี่ย 13 ไมโครเมตร  กว้าง 5-12 ไมโครเมตร เฉลี่ย 7 ไมโครเมตร มีเยื่อพัดโบกข้างตัว (undulating membrane) ช่วยในการเคลื่อนที่ ส่วนหน้าของ axostyle  อาจแยกเป็นหลาย fibrils   nuclear chromatin กระจายตัวเป็นระเบียบ และ cytoplasm มี แกรนูล จำนวนมากรอบ costa  และ axostyle


นิเวศวิทยา (Ecology)
            ถิ่นที่พบ สามารถพบได้ทั่วโลก ทั้งในผู้หญิงและผู้ชายแต่พบมากในผู้หญิง โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกาพบมีผู้หญิงติดเชื้อถึง 5 ล้านคน และตรวจพบเชื้อนี้ในผู้ชายเพียงแค่ 1ล้านคน เชื้อ tricomonas vaginalis  จะอาศัยอยู่ภายในช่องคลอดของผู้หญิงและในท่อทางเดินปัสสาวะของผู้ชาย


วงชีวิต ของ T.vaginalis


ภาพ วงชีวิต ของ T.vaginalis


วงชีวิต ของ T.vaginalis มีเฉพาะระยะโทรโฟซอยต์ โดยไม่มีระยะซีสต์ ดังนั้นระยะโทรโฟซอยต์จึงเป็นระยะที่ทำให้เกิดโรคและเป็นระยะติดต่อของโรค ส่วนใหญ่ผู้ชายจะไม่มีอาการของโรคจึงมักไม่รู้ว่าตนเองมีเชื้อที่สามารถถ่ายทอดต่อไปให้ผู้อื่น ดังนั้นอาจจะกล่าวได้ว่าผู้ชายเป็นพาหะของโรคที่แท้จริง ในผู้ชายจะพบปรสิตอยู่ในท่อทางเดินปัสสาวะท่ออสุจิหรือต่อมลูกหมากซึ่งติดต่อไปยังภรรยาหรือหญิงอื่นในขณะที่มีเพศสัมพันธ์
ระยะ trophozoite รูปร่างกลมรี ขนาด 5-12 x 7-23 ไมโครเมตร ด้านหน้ามีแฟลเจลเลตสี่เส้นใช้สำหรับการเคลื่อนที่ มีเยื่อพัดโบกข้างลำตัว ยาวประมาณครึ่งหนึ่งของลำตัว แฟลเจลเลตเส้นที่ห้าอยู่ที่ขอบของเยื่อพัดโบกข้างลำตัว และไม่มีส่วนที่ยื่นพ้นลำตัวออกมาท้ายลำตัว บริเวณกลางลำตัวมีแท่งแอกโซสไตล์(axostyle) ซึ่งเป็นโปรตีนอัดแน่น ทำหน้าที่พยุงเซลล์ให้คงรูปร่างและมีส่วนยื่นพ้นลำตัวออกมาด้านท้ายดูคล้ายกับเป็นหาง นอกจากนี้ยังมีเซลล์พาราเบซอลบอดี หรือกอลจิบอดี โทรโฟซอยต์เคลื่อนที่รวดเร็วและเปลี่ยนทิศทางอยู่ตลอดเวลา โดยใช้แฟลเจลเลตและเยื่อพัดโบก ปรสิตเจริญและแบ่งตัวจากหนึ่งเป็นสองตามแนวยาว (binary fission)
การติดต่อเกิดขึ้นในขณะที่หญิงและชายมีเพศสัมพันธ์ นอกเหนือจากชายที่เป็นพาหะจะถ่ายทอดเชื้อไปให้หญิงแล้ว หญิงที่เป็นโสเภณีซึ่งมีเชื้อแต่ไม่มีอาการของโรคก็สามารถจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อไปสู่ชายได้เช่นกัน หญิงที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มักปรากฏอาการของโรค   โดยมีเชื้อเจริญอยู่ในบริเวณช่องคลอดหรืออาจลุกลามเข้าไปถึงปากมดลูก ผู้หญิงบางรายอาจไม่แสดงอาการของโรคเนื่องจากปรสิตอาศัยกินจุลินทรีย์ในช่องคลอด  กินแบคทีเรีย  เม็ดเลือดขาวหรือเซลล์เยื่อบุช่องคลอดที่หลุดมาโดยไม่ทำอันตรายแก่เนื้อเยื่อช่องคลอดซึ่งบางโอกาสถูกกินโดย  Macrophage ได้


ลักษณะทางการก่อโรค (Pathogenesis)
ผู้ติดเชื้อมีอาการหลากหลาย มีระยะฟักตัว 4-28 วัน เชื้อมุ่งเกาะเยื่อบุท่อสืบพันธ์ชนิด squamous epithelium เมื่อก่อการติดเชื้อได้แล้วในผู้หญิงจะมีระยะการอยู่ที่นานมากกว่าผู้ชาย การติดเชื้อในผู้หญิงมักมีการติดเชื้ออย่างอื่นร่วมด้วย เช่น Ureaplasma urealyticum หรือ Mychoplasma hominis, Gardnerella vaginalis, Chalmydia trachomatis  และยีสต์ ในหญิงที่ติดเชื้อทริโคโมแนส สามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ไม่มีอาการ, มีอาการเฉียบพลัน, มีอาการเรื้อรัง  ประมาณ 1ใน 3 ของหญิงที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการจะกลับมีอาการภายใน 6 เดือน  แม้ว่าผู้ชายที่ติดเชื้อส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการ  แต่บางรายที่มีการเฉียบพลันปรสิตอาจก่อให้เกิดการอักเสบในท่อทางเดินปัสสาวะ (urethritis)  ปัสสาวะขัด (dysuria) หรือต่อมลูกหมากอักเสบ(protatitis) มีมูกหนองไหลจากท่อปัสสาวะ หรือแสบหลังเสร็จกามกิจ ส่วนในรายที่ไม่มีอาการรุนแรงจะมีอาการคล้ายหนองในเทียมจากสาเหตุอื่นๆ และอาจทำให้เป็นหมัน ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่ร้อยละ 14-60 พบว่าคู่นอนติดเชื้อด้วย
ในผู้หญิงที่ติดเชื้อมักมีอาการคันเนื่องจากเกิดระคายเคืองของเยื่อบุช่องคลอด ช่องคลอดอักเสบบวมแดง  อาการร่วมที่พบได้บ่อยคือ  ตกขาว (leukorrhea) เนื่องจากเชื้อเข้าไปทำลายเซลล์เยื่อบุช่องคลอดทำให้เซลล์ตายหลุดออกมาทับถมมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันเม็ดเลือดขาวของโฮสต์ที่ออกมาเพื่อช่วยกำจัดปรสิตกลับถูกปรสิตจับกินแทน  เพราะมีขนาดเล็กกว่า และเม็ดเลือดขาวส่วนหนึ่งที่ตายสะสมปะปนอยู่กับซากปรสิตและเซลล์เยื่อบุช่องคลอดทำให้มีของเหลว (discharge) หรือที่เรียกว่าตกขาว จากช่องคลอดเป็นหนองสีเหลืองอมเขียวซึ่งมีกลิ่นเหม็นจัด  นอกจากนี้ยังพบว่ามีการติดเชื้อจุลินทรีย์หรือเชื้อราบางชนิด (Candida albicans) ร่วมด้วยมีแนวโน้มว่าการอักเสบของปากมดลูกที่เกิดขึ้นบ่อยๆจาก Trichomoniasis อาจเป็นตัวบ่งชี้ของการเกิดเป็นมะเร็งปากมดลูก
อาการแทรกซ้อนมีหลายอย่าง เช่น หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้ออาจคลอดก่อนกำหนด หรือถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด ในทารกแรกเกิดมีรายงานว่าทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ และนอกจากนี้  T.vaginalis ยังเป็นสาเหตุในการเกิดฝีหนองที่ไต (perinephric abscess) และในน้ำคัดหลั่งจากช่องคลอด ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในผู้หญิง



การวินิจฉัย (Diagnosis)
การตรวจวินิจฉัยในผู้ป่วยผู้หญิงทำโดยใช้ไม้พันสำลีป้ายหนองบริเวณปากมดลูกหรือนำปัสสาวะมาปั่นเพื่อเอาส่วนที่ตกตะกอนชั้นล่างสุดมาดู (wet preparation) หรือ ทำ vaginal swab ตรวจหาปรสิตโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ trophozoite ที่มีชีวิตจะเคลื่อนที่ด้วยแฟลกเจลลา สามารถเห็นได้ชัดเจน เรียกการเคลื่อนที่แบบกระตุก (jerky moverment) การตรวจต้องทำภายใน 30 นาที มิฉะนั้นเชื้อจะตาย ทำให้แยกออกยากระหว่างเม็ดเลือดขาวและเซลล์บุช่องคลอดที่มีปะปนอยู่เป็นจำนวนมาก หรือตรวจดูเมือกตกขาว หรือขูดผิว (swab or scrap) ของอวัยวะเพศหญิงภายในมาดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ในกรณีที่ไม่พบเชื้ออาจนำตัวอย่างไปเพาะเลี้ยงเพื่อเพิ่มจำนวนปรสิต ทำให้ตรวจหาได้ง่ายขึ้น
             การตรวจวินิจฉัยในผู้ชายสามารถตรวจโดยนำปัสสาวะมาปั่น หรือนวดต่อมลูกหมากเอาน้ำคัดหลั่งและนำตะกอนมาตรวจหาปรสิตหรืออาจทำโดยการนำน้ำอสุจิหรือของเหลวจากต่อมลูกหมากมาตรวจหาปรสิตแต่มักมีโอกาสพบน้อย หรืออาจนำเชื้อไปเพาะเลี้ยงเพื่อการตรวจที่ง่ายขึ้น


การรักษา (Treatment)
            ใช้ยาเมโทรนิดาโซล (metronidozole) ขนาด 250 มิลลิกรัม วันละสามครั้ง ติดต่อกัน 5-7 วัน ให้กินหรือสอดใส่ในช่องคลอดโดยตรง รายงานการรักษาผู้ป่วยชาวไทยด้วยยาเมโทรนิดาโซลโดยให้ครั้งเดียวในขนาด 2  กรัม ทั้งหญิงและชายให้ผลการรักษาที่ดีมากและการรักษาโดยใช้ยาทินดาโซลหรือออนิดาโซล เพียงครั้งเดียวในขนาด 2  กรัม ให้ผลการรักษาหายขาดถึงมากกว่าร้อยละ 90 แม้ว่าการรักษาด้วยยาเหล่านี้จะได้ผลดี แต่มีการรายงานว่ามีการดื้อยาเกิดขึ้นในบางสายพันธุ์ อาจจะต้องมีการเพิ่มปริมาณของยาหรือใช้นานขึ้น หากจะให้ได้ผลการรักษาที่หายขาดควรที่จะทำการรักษาคู่นอนของผู้ป่วยด้วย



การป้องกัน (Prevention)    
เนื่องจากการติดต่อเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เชื้อ T.vaginalis  การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การไม่สำส่อนทางเพศ หญิงที่มีอาชีพขายบริการหรือโสเภณีควรได้รับการตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ ถ้าพบว่ามีเชื้อต้องทำการรักษา เพื่อไม่ให้เป็นพาหะแพร่กระจายเชื้อไปให้กับผู้อื่น กรณีที่เป็นสามีและภรรยา การรักษาจะต้องทำไปพร้อมๆกัน ถ้าผู้ใดเป็นโรคนี้ เนื่องจากผู้ชายจะไม่แสดงอาการของโรค จึงสามารถแพร่กระจายไปสู่คู่สมรสได้อีก ถ้าไม่ได้รับการรักษา  โดยทั่วไปปรสิตจะตายในที่แห้ง แสงแดด หรือความร้อน 40 องศาเซลเซียสได้ แต่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ในน้ำประปาหรือในฟองน้ำถูตัวที่มีน้ำขังอยู่ภายในได้ประมาณ ภายใน 35-40 นาที และสามารถอยู่ในน้ำปัสสาวะนานถึงได้ 24 ชั่วโมง
ดังนั้นการอาบน้ำหรือการใช้ฟองน้ำถูตัวร่วมกัน อาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อได้จึงสามารถติดต่อกันได้ หรือควรตรวจหาผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงที่ติดเชื้อ โดยที่ผู้ชายจะไม่แสดงอาการของโรค แต่ถ้าเมื่อพบเชื้อ T.vaginalis ควรให้การรักษาและรวมทั้งรักษาผู้ป่วยด้วย โดยให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรค เช่น การใช้ถุงยางอนามัยในการร่วมเพศ การนั่งโถส้วมสาธารณะควรทำความสะอาดก่อนทุกครั้ง และไม่ควรใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้ที่เป็นโรค



4.Cryptosporidium

Cryptosporidium เป็นโปรโตซัวชนิดหนึ่งใน  subclass  Coccidia  , suborder Eimeriina  , family Cryptosporiidae  ( Levine, 1984 ) oocyst  มี 4 sporozoites  แต่ไม่มี  sporocyst  ระยะต่างๆของการเจริญเติบโตเกาะอยู่ที่ผนังเยื่อบุลำไส้  มีวงจรชีวิตสมบูรณ์แบบได้ภายในโฮสต์เดียว (monoxenous life cycle)  เป็นปรสิตที่มีความจำเพาะต่อโฮสต์ต่ำ  ในปัจจุบันจึงแบ่งออกเป็นเพียง  6  species โดยอาศัยชนิดของโฮสต์  ตำแหน่งที่พบปรสิตในโฮสต์  ขนาดและรูปร่างลักษณะของ oocyst 
Tyzzer เป็นผู้ค้นพบ Cryptosporidium เป็นครั้งแรกในปี ค..1907 จาก gastric gland ของหนูทดลองในห้องปฏิบัติการ และให้ชื่อว่า Cryptosporidium หลังจากนั้นมีรายงานมากมายที่พบว่าเชื้อ Cryptosporidium ทำให้เกิดพยาธิสภาพอย่างเฉียบพลันและเรื้อรัง ทั้งในสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยง ดังนั้นจึงมีบทบาทสำคัญมากในทางสัตวแพทย์
รายงานพบในคนเป็นครั้งแรกโดย Nime และคณะ(1976) พบในผู้ป่วยเด็กอายุ 3 ขวบ ต่อมามีรายงานการติดเชื้อพยาธิชนิดนี้มากขึ้นจากประเทศต่างๆทั่วโลก
Cryptosporidiumเป็นโปรโตซัวที่ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงอย่างเฉียบพลันและเรื้อรังทั้งในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องและผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันปกติโดยเฉพาะในเด็ก

Cryptosporidium มี 6 species ได้แก่ C.parvum และ C.muris พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม  C. baileyi  และ C.meleagridis พบในสัตว์ปีก C.nasorum ในปลา  และ C.serpentis ในสัตว์เลื้อยคลาน ปัจจจุบันเชื่อว่าชนิดที่ก่อโรคในคนคือ "Cryptosporidium parvum"

ภาพ  Cryptosporidium parvum oocysts

Oocyst ของ C. parvum จะมีรูปร่างกลมหรือกลมรี  มีขนาดเฉลี่ย 4.5x5 µm ผนังเรียบและไม่มีสี  มีรอยเส้นจางที่ขั้วบนเป็นเส้นทแยงเฉียงลงมายาว 1/2-1/3 ของ oocyst ; สปอโรซอยต์ขนาด 4.9x1.2 µm อยู่แนวนอนเรียงกันอยู่ด้านหนึ่งและไม่มี refractile body ; ใน oocyst มี residuum


วงจรชีวิตของ Cryptosporidium parvum
     วงจรชีวิตของ cryptosporidium คล้ายกับพวกค็อกซิเดียโดยทั่วไป  การเจริญเติบโตของเชื้อเกิดในเซลล์บุผนังลำไส้( epithelial cell) ในลักษณะที่อยู่ในเซลล์โฮสต์แต่นอกไซโทพลาซึม จึงดูคล้ายกับว่าเชื้อเกาะอยู่ที่ผิวเซลล์ด้านนอกของโฮสต์
เมื่อโฮสต์กิน oocys  สปอโรซอยต์ออกจากรอยแยกด้านล่างของผนัง oocyst สัมผัสกับผิวเซลล์บุลำไส้เล็ก ( enterocyte ) ถูกดูดกลืนเข้าอยู่ใน  parasitophorous vacuole กลายเป็นโทรโฟซอยต์เจริญเต็มที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5-6.0 µm และจะเข้าสู่กระบวนการเมโรโกนี  แบ่งแยกตัวโดยวิธี endopolygeny ให้เมรอนต์แบบแรก ( Type I meront ) ซึ่งภายในมี 8 เมโรซอยต์  ขนาด 2-5µm *0.4µm ; เมโรซอยต์จากเมรอนต์แบบแรกเข้าเซลล์ของโฮสต์ข้างเคียงและเข้าสู่ขบวนการเมโรโกนีซ้ำอีก แต่รุ่นที่ 2 นี้  ให้เมรอนต์แบบแรกอีกและยังให้เมรอนต์แบบที่ 2 ซึ่งมีจำนวนเมโรซอนต์ เพียง 4 ตัว  เมโรซอนต์จากเมรอนต์แบบ 2 เข้าเซลล์ข้างเคียงและเข้าสู่ขบวนการเมโรโกนีและแกมีโตโกนีตามลำดับ ไมโครแกมอนต์แต่ละตัวให้ไมโครแกมีตได้ถึง 16 ตัว ขนาด 2 µm *0.7µm ไม่มีแฟลเจลลัม การผสมพันธุ์ระหว่างไมโครแกมีตและแมโครแกมีตก่อกำเนิดไซโกตขนาด 40-.5-6.0 µm ซึ่งไซโกตจำนวนประมาณร้อยละ 80 จะสร้างผนังหนามาหุ้มกลายเป็นโอโอซิสต์ผนังหนาสองชั้น  ส่วนที่เหลือประมาณร้อยละ 20 ไม่สร้างผนังมาหุ้มเลยมีผนังชั้นเดียว กลายเป็นโอโอซิสต์ผนังบาง ภายในโอโอซิสต์เกิดสปอโรซอยต์ 4 ตัวในเวลาต่อมา
Ø วงจรชีวิตอาจกินเวลาเพียง 2วัน และการติดเชื้ออาจสั้นหรือคงอยู่เป็นเดือนจากการที่มีเมรอนต์ทั้งแบบหนึ่งที่วนเวียนอยู่  และเมรอนต์แบบสองที่คงอยู่เรื่อยๆ
Ø ระยะก่อนเชื้อปรากฏประมาณ 2-14 วัน ในขณะที่ระยะปรากฏเชื้อไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับภาวะภูมิคุ้มกันของโฮสต์
Ø โอโฮซิสต์สุกจะหลุดออกจากเซลล์ของโฮสต์ปนไปกับอุจจาระ โอโอซิสต์ผนังหนาจะทนทานต่อสิ่งแวดล้อมนอกร่างกายโฮสต์ และเป็นระยะที่แพร่และติดต่อสู่โฮสต์อื่นต่อไป แต่โอโอซิสต์ผนังบางจะแตกในลำไส้ปล่อยสปอโรซอยต์ออกมาก่อให้เกิดการติดเชื้อในตัวเอง ( autoinfection) ได้
Ø ระยะฟักตัวของโรคในคนประมาณ 4-12 วัน ระยะเวลาตั้งแต่ได้รับโอโอซิสต์เข้าไปจนเริ่มตรวจพบโอโอซิสต์ในอุจจาระของโฮสต์ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงประมาณ 2-14 วัน ส่วนระยะเวลาที่ยังตรวจพบโอโอซิสต์ในอุจจาระได้จะนานหลายวันจนถึงหลายเดือน ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อระยะเวลาในการติดเชื้อคือภาวะภูมิคุ้มกันของโฮสต์แต่ละชนิดของปรสิต

นิเวศวิทยา
เนื่องจากปรสิตนี้มีโฮสต์หลายชนิดทำให้การแพร่เชื้อเป็นไปได้อย่างกว้างขวางทั่วโลกกว่า 50 ประเทศใน 6 ทวีป ทั้งในเขตร้อนและเขตอบอุ่น  การตรวจกลุ่มตัวอย่างเฉพาะบางกลุ่ม เช่น กลุ่มที่มีอาการท้องเสียพบความชุก 1-3 % ในยุโรปและอเมริกาเหนือ5ในเอเชียและ 10ในแอฟริกา พบการติดเชื้อในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะจะสูงสุดในเด็กอายุน้อยกว่า 2  ขวบ นอกจากนั้นความชุกของการติดเชื้อในประเทศที่กำลังพัฒนาจะสูงกว่าในประเทศที่กำลังพัฒนาแล้ว
Ø เชื้อ Cryptosporidium เป็นสาเหตุหนึ่งของท้องร่วงในนักท่องเที่ยว (traveller’s diarrhoea)
Ø บางคนจัดให้เชื้อมี 2 แบบ คือ Type I- แบบที่ถ่ายทอดระหว่างสัตว์ด้วยกัน และ Type II- แบบถ่ายทอดระหว่างคนด้วยกัน  คนติดเชื้อจากสัตว์ได้  โดยเฉพาะจากวัว  แต่เชื้อจากคนไม่สัตว์
Ø ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจติดเชื้อ Cryptosporidium species  ต่างๆ จากสัตว์ได้  
             

ลักษณะการก่อโรค
          ก่อโรค Cryptosporidiosis ทั้งในคนปกติและคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาการสำคัญที่พบคือท้องร่วงโดยมากเป็นน้ำ (watery diarrhoca)  อาจมีมูกปน แต่ไม่มีเลือดหรือเม็ดเลือดขาว น้ำหนักตัวลด  นออกจากนี้มีอาการตะคริว ไข้สูง (< 39  ซ) ไม่สบาย คลื่นไส้  ระยะฟักตัวอยู่ระหว่าง 5 วัน ถึง 2 สัปดาห์  และยังคงพบโอโอซิสต์ในอุจจาระแม้ว่าอาการท้องร่วงจะหยุดไปแล้วถึง 2 สัปดาห์  ผู้ป่วยมักจะหายเองโดยไม่ต้องรักษาในเวลา 2-20 วัน เฉลี่ย 14 วัน  ซึ่งนานกว่าท้องร่วงจากแบคทีเรียหรือไวรัส  ในคนที่เป็นโรคเอดส์หรือคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง 
               โรคจะรุนแรงกว่าปกติโดยผู้ป่วยมีอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง มีไข้ น้ำหนักลด ปวดท้องและอาเจียน อาการท้องร่วงอาจเป็นช่วงๆ หรืออาจเป็นตลอดระยะเวลาระหว่าง 7 วันถึง 6 ปี(โดยเฉลี่ย 20.6 สัปดาห์) ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำโดยเฉลี่ย 1-12 ลิตรต่อวัน  ปริมาณอุจจาระแต่ละวันมากถึง 3-6ลิตร และมีรายงานสูงสุดถึง 17ลิตร  แม้ว่าเชื้อจะไม่ใช่สาเหตุโดยตรงของการเสียชีวิตในผู้ป่วยเอดส์ แต่ก็เป็นตัวก่ออาการเจ็บป่วยที่สำคัญ นอกจากการติดเชื้อที่ลำไส้แล้วยังมีรายงานพบที่อวัยวะอื่นในผู้ป่วยเอดส์ เช่น ทางเดินหายใจ ถุงน้ำดี ตับและตับอ่อน ทำให้เกิดโรคของอวัยวะนั้นๆ
          การติดเชื้อในคนส่วนใหญ่เกิดจากการกิน โอโอซิสต์ทที่ปนเปื้อนมากับอาหารที่ไม่สะอาด ปรุงไม่ถูกสุขลักษณะ หรือพืชผักที่มาจากแหล่งที่ใช้มูลสัตว์และอุจจาระคนเป็นปุ๋ย และพบว่านมพลาสเจอไรส์เป็นแหล่งแพร่กระจายโรคด้วยเช่นกัน มีเพียง 2รายที่มีรายงานว่าได้รับโอโอซิสต์เข้าสู่ร่างกายโดยการหายใจ (aerosal transmission) เช่นเดียวกับการติดเชื้อ Cryptosporidium ในนก
  การปนเปื้อนของโอโอซิสต์ในน้ำดื่มเป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อในกลุ่มผู้เดินทางไปในสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก และการระบาดใหญ่ที่เกิดเป็นครั้งคราว หลายครั้งก็มีสาเหตุมาจากการปนเปื้อนของโอโอซิสต์ในแหล่งน้ำดื่มน้ำใช้ทั้งในแม่น้ำ ลำคลอง หนองบึง บ่อน้ำและสระว่ายน้ำ รวมทั้งน้ำประปาซึ่งผ่านการกรองและฆ่าเชื้อโดยน้ำยาคลอรีนเนื่องจากปรสิตชนิดนี้มีโฮสต์มากมายหลายชนิด ทำให้การแพร่เชื้อเป็นไปอย่างกว้างขวางทั่วโลก ประชากรทั่วโลกมีเชื้อชนิดนี้ประมาณร้อยละ 2.46  พบในยุโรปร้อยละ 1-2 ในทวีปอเมริกาเหนือร้อยละ 0.6-4.5  ส่วนทวีปอื่นๆ ประมาณร้อยละ 3-20  พบติดเชื้อในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ ร้อยละ 4.9 ต่อร้อยละ2.0

 ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อ แบ่งตามตำแหน่งที่พบปรสิตได้เป็น  2  กลุ่ม 
1.  ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในลำไส้  (intestinal cryptosporidiosis)  ยังสามารถแบ่งตามความรุนแรงของอาการที่ปรากฏได้เป็น  3  กลุ่ม 
     1.1  ไม่ปรากฏอาการ  (asymptomatic)  เป็นผู้ที่มีการติดเชื้อแต่ไม่มีอาการผิดปกติ  ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นตัวการแพร่กระจายเชื้อ  (carrier)
     1.2  มีอาการอุจจาระร่วงอย่างเฉียบพลัน  แต่หายได้เองมักถ่ายอุจจาระวันละหลายครั้ง หรืออุจจาระมีมูกมาก  ไม่มีเลือดนอกจากนี้มีอาการคลื่นไส้  อาเจียน  ปวดท้องและมีไข้ต่ำ  อาการอุจจาระร่วงนี้จะหายได้เองในระยะเวลาสั้น ไม่เกิน 2 สัปดาห์  แต่ในบางรายโดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องจะทำให้มีอาการอุจจาระร่วงเรื้อรัง  และมีอาการรุนแรงมากขึ้น
   1.3  มีอาการอุจจาระร่วงเรื้อรังและรุนแรง  มักพบในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง  เนื่องจากไม่มีภูมิต้านทาน ทำให้ปรสิตเพิ่มจำนวนมากขึ้น  จึงมีอาการเรื้อรังและรุนแรงมากขึ้นจนเสียชีวิตได้  ผู้ป่วยมีการขาดน้ำ  ภาวะอิเล็กโตรไลต์ในร่างกายเสียสมดุล  การดูดซึมอาหารบกพร่อง  อ่อนเพลีย น้ำหนักลด  อาจพบการติดเชื้อลุกลามไปถึงกระเพาะอาหาร  หลอดอาหาร  ไส้ติ่ง  ลำไส้ใหญ่ และไส้ตรง
2.  การติดเชื้อนอกลำไส้  (extra-intestinal cryptosporidiosis) มีรายงานพบมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ทำให้เกิดการอักเสบของท่อน้ำดี  ตับอ่อน  ถุงน้ำดี  กล่องเสียงและหลอดลม


 การวินิจฉัย
1.  การตัดชิ้นเนื้อในลำไส้ ( intestinal biopsy ) มาตรวจดูจะพบการเปลี่ยนแปลงของผนังลำไส้    และพบเชื้อระยะต่างๆ  แต่วิธีนี้ไม่เหมาะในการตรวจวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการชันสูตรทั่วไป  เนื่องจากการตัดเก็บชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจยุ่งยากและไม่สะดวก เชื้อระยะต่างๆในลำไส้มีขนาดเล็กมาก  การวินิจฉัยที่แน่นอนจำเป็นต้องใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน  และต้องตัดชิ้นเนื้อในตำแหน่งที่มีการติดเชื้อจึงให้ผลการตรวจแม่นยำ
2.การตรวจอุจจาระด้วยวิธีการตรวจอย่างง่าย( simple smear ) พบได้ยาก การตรวจพบ oocyst  ที่มีขนาดเล็กมาก จำเป็นต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ชนิดพิเศษ คือ  phase-contrast microscope
3.การตรวจอุจจาระด้วยการย้อมสีพิเศษต่างๆ ทำให้สามารถตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ธรรมดา  พบว่า  oocyst ของ Cryptosporidium มีคุณสมบัติของการติดสี acid-fast  จึงเป็นที่เหมาะสมในการตรวจวินิจฉัยมากที่สุด เนื่องจาก oocyst ติดสีแดงแยกจากยีสต์และสิ่งอื่นได้ง่าย  ทั้งยังสามารถตรวจดุด้วยกล้องจุลทรรศน์ธรรมดาด้วยกำลังขยาย 400 เท่า การย้อมสีทนกรดมีหลายวิธีได้แก่modifiedZiehlNeelsen,modified (DMSO),Safraninmethylene  blue และ modified Koster จากการศึกษาเปรียบเทียบวิธีดังกล่าวทั้งหมดล้วนสามารถตรวจหา oocyt  ได้ผลดี รวดเร็ว แม่นยำ และเหมาะสมในการใช้ในห้องปฏิบัติการทั่วไปได้ดีใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ยังสามารถย้อม oocyst ด้วยสีอื่นอีกหลายวิธีเช่น สี Giemsa และ fluorochromme stain แต่ให้ผลการตรวจไม่ดีเท่าการย้อมสี acid- fast
วิธี Modified Ziehl- Neelsen method ( Casemore etal., 1985 ) เป็นที่นิยมใช้ในห้องปฏิบัติการทั่วไปมากที่สุด  เมื่อย้อมสีแล้ว oocyst ที่พบมีสีแดงรูปกลมหรือรี ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4-6 ไมโครเมตร การติดสีแดงนี้มีลักษณะ ไม่สม่ำเสมออาจพบทั้งสีซีดแลสีเข้ม ผนังหนา อาจพบช่องว่างระหว่างผนังของ oocystที่ไม่ค่อยติดสี sporozoite ที่อยู่ภายในอาจเห็นไม่ครบ 4 ตัว ขึ้นอยู่กับการเรียงตัวของ sporozoite อาจพบ residual body ซึ่งติดสีและเป็นลักษณะเด่นเฉพาะที่สามารถจะให้การวินิจฉัยว่าเป็น cryptosporidium ได้
 มีรายงานพบว่าปริมาณ  oocyst ที่ตรวจพบในอุจจาระผู้ป่วยมีความสัมพันธ์โดยตรงกับความรุนแรงของโรค จึงสามารถใช้เป็นตัวพยากรณ์โรคได้
4. การตรวจแบบเข้มข้นโดยวิธีการลอยตัว ( floatation ) หรือการตกตะกอน (sedimentation) วิธีที่ใช้ได้ผลดีคือ Sheather’s sucrose floatation หรือ formalinether sedimentation  แล้วนำมาตรวจหา  oocyst ด้วยกล้องจุลทรรศน์ชนิด  phase-contrast  ที่กำลังขยาย 200-400 เท่า หรือย้อมด้วยสีพิเศษจะทำให้มีความไวมากขึ้น
5.การตรวจทางภูมิคุ้มกันวินิจฉัยและทางชีวโมเลกุล  ปัจจุบันมีการผลิตน้ำยาโมโนโคลนอลแอนติบอดีที่จำเพาะนาการตรวจหา oocyst  ในอุจจาระผู้ป่วย ซึ่งวิธีนี้มีความจำเพาะและความไวสูง  โดยเฉพาะในอุจจาระที่มีกากมากและมี oocyst จำนวนน้อย ยากแก่การตรวจพบ  ขณะนี้มีการผลิตเป็นชุดตรวจสำเร็จรูปในการทดสอบ สำหรับจำหน่ายแล้ว
วิธี Polymerase chain reaction  ที่มี primer ที่จำเพาะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่มีชุดตรวจสำเร็จรูปจำหน่ายแต่ยุ่งยากซับซ้อนไม่เหมาะกับงานตรวจประจำ


การรักษา
    ยังไม่มียารักษาเฉพาะ  ต้องรักษาตามอาการ  เช่น ให้น้ำและอิเล็กโทรไลต์  และใช้ยารักษาอาการท้องร่วงทั่วไป ซึ่งในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันปกติจะมีอาการทุเลาและหายได้  แต่จะไม่ได้ผลในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง


การป้องกัน
    Oocyst  ของ Cryptosporidium  มีความคงทนต่อน้ำยาฆ่าเชื้อหลายชนิดที่เป็นสารประกอบของอัลดีไฮด์  แอมโมเนีย  แอลกอฮอล์  คลอรีน  หรือความเป็นกรดด่าง  การใช้คลอรีนในระบบการทำน้ำประปาฆ่าเชื้อในปัจจุบัน ไม่สามารถทำลาย oocyst ได้  ดังนั้นทางหนึ่งของการป้องกันคือควรดื่มน้ำต้มสุกและสะอาด รวมทั้งกินอาหารที่สะอาดปราศจากการปนเปื้อนของ oocyst
·      การป้องกันการรับเชื้อ
การติดต่อของเชื้อนี้จะได้รับเชื้อโดยตรงจากคนที่เป็นโรค ผ้าอ้อมเด็ก สัตว์ที่เป็นโรค การดื่มน้ำหรืออาหารที่มีเชื้อโรคดังนั้นการป้องกันทำได้ดังนี้
1.ผู้ที่ติดเชื้อ HIV ไม่ควรสัมผัสอุจาระของคนและสัตว์โดยล้างมือให้สะอาดหลังจากล้างก้นหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เด็ก หลังจับสัตว์ หลังทำสวนแม้ว่าคุณจะสวมถุงมือ
2.ไม่ทำ oral sex ให้กับคู่เชื้ออาจจะอยู่บริเวณก้น ต้นขาดังนั้นไม่ควรเลียบริเวณดังกล่าว และควรล้างมือหลังมีเพศสัมพันธ์
3.เด็กทารกและลูกสุนัข แมว นกจะมีเชื้อโรคนี้ไม่มาก อาจจะสัมผัสเล่นได้ยกเว้นสัตว์ที่มีอายุน้อยกว่า 6 เดือนหรือสัตว์ที่มีท้องร่วง
4.ไม่ดื่มน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ระวังน้ำจากสระว่ายน้ำหรือสวนสนุกเข้าปาก
5.น้ำดื่มที่ปลอดภัยได้แก่
     -ดื่มน้ำต้มสุก 1 นาทีก็สามารถป้องกันเชื้อนี้
    -น้ำกลั่น
   -น้ำกรองที่มีขนาดของรูน้อยกว่า 1 micron
   -น้ำที่ผ่านการกรองแบบ reverse osmosis
   -ห้ามกินน้ำแข็งที่ทำจากน้ำประปาเพราะอาจจะมีเชื้อนี้
6.ไม่ควรรับประทานอาหารที่ใช้มือผสมหรือปรุงอาหารด้วยมือเปล่า
7.ล้างผักให้สะอาดทุกครั้งถ้าจะให้ดีต้องปลอกเปลือกออก



อ้างอิง
นิมิต  มรกต, ปรสิตวิทยาทางการแพทย์ :โปรโตซัวและหนอนพยาธิ. คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2546
ประยงค์  ระดมยศ และ คณะ. ATLAS OF MEDICAL PARASITOLOGY, เมดิคัล มีเดีย ;กรุงเทพ . 2547
วันชัย  มาลีวงษ์และคณะ.  ปรสิตวิทยาทางการแพทย์ :โปรโตซัวและ                  หนอนพยาธิ,  คลังนานาวิทยา ขอนแก่น,  2544




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น